ถอดบทเรียนชาวบ้านช่วยชาวบ้าน กรณีน้ำท่วมพิษณุโลก ชี้ความเป็นเครือข่ายฯช่วยทำให้พ้นวิกฤต







ถอดบทเรียนชาวบ้านช่วยชาวบ้าน กรณีน้ำท่วมพิษณุโลก ชี้ความเป็นเครือข่ายฯช่วยทำให้พ้นวิกฤต ช่วยเหลือในพื้นที่ได้ตรงจุดและกระจายความช่วยเหลือในจังหวัดรอบข้างได้ เตือนเราอยู่ในวงจรภัยพิบัติตลอดปีเพราะฤดูกาลผันแปร แนะเตรียมตัวรับทั้งระดับตนเอง ครอบครัว และชุมชน วางแผนร่วมตั้งแต่ระดับจัดการความช่วยเหลือจนถึงการเปลี่ยนโครงสร้างระบบเกษตรให้สอดรับ

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมไพลิน อ.เมือง จ.พิษณุโลก ชาวบ้านหลายพื้นที่ นักวิชาการ นักพัฒนา เยาวชน และผู้มีส่วนร่วมในการช่วยกันรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ของจังหวัดพิษณุโลก ราว 100 คน ร่วมกันมาสัมมนา “บทเรียนการปรับตัวและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติพิษณุโลก” จัดโดยมูลนิธิคนเพียงไพร ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

นายสาคร สงมา ผู้ประสานงานมูลนิธิคนเพียงไพร กล่าวว่าในช่วงสิงหาคม – ตุลาคม พื้นที่จังหวัดพิษณุโลกได้ประสบอุทกภัยน้ำหลากเข้าและท่วมขังรุนแรงที่สุดในรอบ ๑๐ ปี บางพื้นที่เป็นพื้นที่ไม่เคยท่วมจึงยากต่อการปรับตัวและช่วยเหลือตัวเอง ภาคประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก ทั้งผู้ประสบภัยพิบัติ ผู้ไม่ประสบภัยพิบัติ ได้สร้างบทบาทใหม่ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ลงมือปฏิบัติ การปรับตัว และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย บนฐานคิด “ชาวบ้านช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ” การลำเลียงของ ขนส่ง การระดมของ การพัฒนากลไกในพื้นที่ การเชื่อมประสานภายในจังหวัด การเชื่อมต่อกับจังหวัดรอบข้าง และบางส่วนขยายวงสู่การช่วยเหลือศูนย์กลางประเทศไทย กรุงเทพฯ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ภาคประชาชนหลายส่วน เช่นนักพัฒนา องค์กรชุมชน คนชั้นกลาง นักวิชาการ หมอ นักเคลื่อนไหว นักวิทยุสมัครเล่น รวมทั้งนักการเมืองรุ่นใหม่ ได้รวมตัวและมีบทบาทช่วยเหลือผู้ประสบภัยบนความถนัดของตัวเอง บทเรียนการทำงานของภาคประชาชนจำเป็นต้องรวบรวมเป็นชุดประสบการณ์เพื่อเป็น “ต้นแบบ” ในการทำงานเรียนรู้เป็นแนวทางที่จะปรับตัวช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงขึ้น

นางแน่งน้อย อัศวกิตติกร ตัวแทนศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภาคประชาชน (สนามบินพิษณุโลก) เล่าย้อนการทำงานร่วมกันครั้งนี้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก ได้ลงพื้นที่ อ.บางระกำ พบเห็นลำบากที่ความช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึง พบข้อต้องปรับปรุงในการช่วยเหลือจากภาครัฐคือ การช่วยเหลือที่อิงกับทะเบียนบ้านทำให้คนที่ถือทะเบียนบ้านเท่านั้นที่จะได้รับ ส่วนผู้ประสบภัยอื่นที่กระจัดกระจายกันไปจะไม่ได้รับของช่วยเหลือ ก็เลยตัดสินใจช่วยเหลือร่วมกับภาคประชาชนที่ลงพื้นที่ไปและประสานกับท้องถิ่นเช่นองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก และส่วนกลางคือเว็บ Thaiflood ที่มาจากกรุงเทพ พร้อมกับทีม

“สิ่งที่ช่วยกันทำคือ หาของยังชีพที่สอดคล้อง เพราะถุงยังชีพที่ได้มาส่วนใหญ่จะคล้ายกันคือมาม่ากับปลากระป๋อง แต่คนพื้นที่ที่อยู่กับน้ำและอยู่นานๆ เขาสามารถจับปลา ดักหนู จับงูยังชีพพอได้ แต่ที่ขาดคือน้ำพริก น้ำปลา กระเทียม การมาช่วยของทีมที่หาซื้อของในจังหวัดนอกจากจะกระจายรายได้ ง่ายต่อการขนส่งเข้าไป ยังสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่”

นางแน่งน้อย เล่าว่า เมื่อน้ำเริ่มท่วมเข้าในกรุงเทพ และศปภ.ดอนเมืองเริ่มเปิดตัว มีความพยายามประสานงานให้เปิด ศปภ.ที่พิษณุโลก เนื่องจากพบว่ามีของบริจาคจากประชาชนกองเป็นจำนวนมากที่ดอนเมือง แต่ยังไม่กระจายออกไปให้ผู้เดือดร้อน ทางนกแอร์และ Thaiflood จึงช่วยกันประสานหาของบริจาคเพื่อกระจายออก เลยขอใช้สนามบินพิษณุโลก และในพื้นที่มีทีมสภาเด็กและเยาวชนมาช่วยกันในพื้นที่ ซึ่งจากการประสานจากเชิงข้อมูลทำให้ศูนย์พิษณุโลกได้ส่งต่อความช่วยเหลือไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่นสุโขทัย นครสวรรค์ และยังมีของบริจาคและความช่วยเหลือจากพื้นที่อื่นเข้ามาช่วยกันเช่นจากภูเก็ต เชียงใหม่ ซึ่งบทเรียนที่ได้เห็นความสำคัญว่าคนพิษณุโลกควรประสานกันเป็นเครือข่ายกันและกันไว้


นางนุชจารี สว่างวรรณ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคประชาชน ( อ. บางระกำ) กล่าวว่า ตนเองอยู่บางระกำ บ้านไม่เคยถูกน้ำท่วมแต่ในพื้นที่รอบข้างจะท่วมทุกปี ส่วนตัวติดตามงานด้านผู้พิการ และพบว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติ ผู้พิการจะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่คนไปช่วยเหลือและอยู่ได้ด้วยถุงยังชีพ ซึ่งแม้จะเข้าถึง แต่ก็ไม่เพียงพอ เลยร่วมกับ พอช. ลำพมจ.จังหวัดพิษณุโลก ลงพื้นที่ทั้ง 11 ตำบลของบางระกำและเก็บข้อมูลจุดที่ท่วมหนักที่สุดพบ 4 พื้นที่
ในการทำงานช่วยเหลือร่วมกับเจ้าหน้าที่ สิ่งที่พบคือในเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก เจ้าหน้าที่ไม่พอ การจะเก็บข้อมูลเลยร่วมกับ อสม. อพม.ในพื้นที่ เหตุผลของการทำข้อมูลเพิ่มเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทั่วถึง เพราะพบว่าครอบครัวในพื้นที่เป็นครอบครัวขยาย แต่ได้รับถุงยังชีพตามเอกสารเพียงถุงเดียวในแต่ละครอบครัว

“เราคุยกันว่า ศูนย์จะทำหน้าที่ให้ถุงยังชีพในช่วงเริ่มต้น แต่ต่อไปคนพื้นที่ต้องช่วยเหลือตนเองให้ได้ ครั้งนี้อาจจะทำได้ไม่มาก แต่ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์
ข้างหน้า เช่นการฝึกอาชีพระหว่างน้ำท่วม เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ทำนา พอน้ำมาไม่มีรายได้ เลยมีโครงการฝึกอาชีพ จากนั้นมีการทำแผนฟื้นฟูซ่อมแซมบ้าน กำลังจะปลูกต้นไม้ในหัวใจคน ประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และป่าไม้ ให้ต้นกล้า ทำหลังน้ำลด และการให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมประสาน ซึ่งการประสานงานได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่านเช่นการตั้งโรงทาน มีกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 3 มาช่วย สิ่งที่พบคือการทำงานไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ งานต่างๆ จะต้องประสานงานให้ได้ “

นางนุชจารีกล่าวด้วยว่า การสำรวจข้อมูลจะมีผลต่อการกระจายความช่วยเหลือ ให้ถุงยังชีพ และมีความช่วยเหลือรูปแบบอื่น เช่นหากมีผู้เสียชีวิตในพื้นที่เดือดร้อนก็จะร่วมจัดงานศพ และสิ่งที่กำลังทำคือกระจายความช่วยเหลือไปพื้นที่อื่นเช่นที่ จ.พิจิตร หลายพื้นที่ที่กรุงเทพ ที่มีการขนผักจากพิษณุโลกไปปรุงให้ เพราะหลายจุดที่ไปเห็นคือจะแต่กินมาม่า น้ำกรุงเทพดำและเหม็น ปัญหาน้ำกัดเท้าเยอะ ภาวะเครียดเยอะมาก บางคนออกบ้านมาแต่ตัว

นายสุทธิเวชย์ เอี่ยมเนตร ศูนย์ชาวบ้านช่วยชาวบ้าน ต.จอมทอง เล่าว่าเดิมที่น้ำเข้าจะคิดว่าเพียงแค่การท่วมนาเหมือนปี 2538 เพราะพื้นที่มีลักษณะเป็นท้องกระทะ คิดว่าคงไม่มากเท่าไหร่ เริ่มช่วยกันจัดการด้วยการอุดทางน้ำเข้าตามคลองน้ำทิ้ง เมื่ออุดไม่อยู่มาอุดแนวรอบพนัง แต่ก็ไม่รอด แจ้งให้ชาวบ้านเก็บของหาหนีน้ำ หลายส่วนไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหน เพราะเป็นบ้านชั้นเดียว เลยหาเต้นท์มาอยู่ตามถนน แต่ต่อมาน้ำก็มาอีกอยู่ไม่ได้ ก็ต้องไปอาศัยอยู่ตามบ้านที่มีชั้น เรื่องถุงยังชีพ ราชการจะแจ้งมายังอบต. แต่สภาพจริงเรามีประชากรแฝงทั้งคนอยู่กรุงเทพกลับมาบ้าง หลายครอบครัวแต่อยู่ในบ้านเดียวกันบ้าง

“น้ำที่เข้ามาท่วมช่วงแรก เป็นน้ำเน่าจากเขื่อนแควน้อย เข้ามาแล้วน้ำเป็นฟองเลย ปลาก็ตาย อยู่อาทิตย์กว่าน้ำจากน้ำน่านเข้ามาปน ที่เน่าก็ดีขึ้นบ้าง เมื่อท่วมขังอยู่และเริ่มลด ก็เข้าไปดูสวนพบว่าที่ปลูกไว้ มะไฟตาย มะพร้าวตาย ผลไม้ตายหมด เพราะน้ำเน่าเข้ามาก่อนน้ำดี ชาวบ้านไม่มีกิน หลังน้ำลดเลยเพาะกล้าผักและแบ่งกันปลูกยังชีพ เพราะไม่มีอะไรเหลือ”

นายอัมพร แก้วหนู คณะทำงานบริหารสถานการณ์น้ำท่วมการปรับตัวและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย กล่าวถึงแนวทางการเชื่อมโยงการทำงานในอนาคตชาวบ้านช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ จ.พิษณุโลก โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของการทำความเข้าใจเรื่องภัยพิบัติว่าได้เกิดขึ้นทั่วโลก และงานฟื้นฟูเป็นงานประจำไปแล้ว ช่วงเวลานี้ที่เหนือตอนล่างน้ำเริ่มแห้ง มีการฟื้นฟู แต่ที่ภาคใต้กำลังคุยกันเรื่องมรสุมจะเข้า และแม้เหนือบนกำลังจะหนาว แต่อีกไม่กี่เดือนราวเดือนเมษายนก็จะมีฝนมาอีก ดังนั้นการเตรียมการรับมือกับน้ำท่วมเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก



กรณีกรุงเทพเป็นเมืองใหญ่ ผู้คนมากมายนับ 10 ล้าน แต่กรุงเทพเป็นเมืองที่เกือบพึ่งตนเองไม่ได้ ผลิตอาหารไม่ได้ เมื่อท่วมใหญ่จึงเกิดผลกระทบมาก แต่เครือข่ายที่มีประสบการณ์ด้านภัยพิบัติได้เข้ามาช่วยเหลือ เช่นมีเครือข่ายนครศรีธรรมราชมาช่วยที่กรุงเทพ
เครือข่ายสึนามิ ไปช่วงบางบัวทอง เครือข่ายกองทุนนราธิวาสไปช่วยกรุงเทพ เครือข่ายภาคเหนือตอนล่างไปช่วยอีกหลายจุด ทั้งนี้เห็นว่า ความเป็นเครือข่ายเป็นทุนที่จะเอามาช่วยเหลือให้เป็นประโยชน์ในสถานการณ์นี้

“ภัยพิบัติที่เจอมาทำให้เราต้องหันมามองการพึ่งตนเอง ระดับตนเอง ระดับครอบครัว และระดับชุมชน งานภัยพิบัติอย่าหวังจากที่ไกลเพราะขาดความเข้าใจในพื้นที่ ความต้องการในภัยพิบัติจะเปลี่ยนไปทุกชั่วโมง คนในชุมชนจะรู้ดีที่สุด”

นายอัมพรกล่าวว่าถ้ามองการผันแปรของฤดูกาลจะพบว่าประเทศไทยตลอดปีจะอยู่กับภัยพิบัติตลอด มันเป็นวงจรภัยพิบัติ ถ้าเห็นข้อเท็จจริง ต้องเตรียมตัวรับได้ ทำแผนที่ มีเบอร์โทร เตรียมการเรื่องน้ำกิน ระบบไฟฟ้าแต่ละตำบลต้องมีคณะทำงาน เรื่องภัยพิบัตโดยเฉพาะ วางแผนในระยะเตรียมการก่อนฝนจะมา ระยะเผชิญน้ำท่วม และระยะฟื้นฟู แต่ละระยะต้องเตรียมการอย่างไร ที่พักของตน สัตว์ รถ การทำบ้านในพื้นที่เกิดน้ำท่วมบ้านไม่ควรเป็นชั่นเดียว ยกพื้นสูง ให้อบต.ออกข้อบัญญัติได้หรือไม่ บางที่ควรย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงต้องดำเนินการอย่างไร และในพื้นที่น้ำทวมเป็นประจำ จะต้องเปลี่ยนระบบเกษตรหรือไม่ จะต้องคิดยาว เพราะไม่ใช่เรื่องชั่วคราว ขณะการช่วยเหลือกัน เราจะตั้งกองทุนสวัสดิการเล็กๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยน้ำท่วม ส่วนกองทุนที่มีอยู่แล้ว เก็บเงินเพิ่มเติมเพ่อจัดการกับภัยพิบัติดีหรือไม่

นายอัมพรยังย้ำว่า การสื่อสารในสถานการณ์ภัยพิบัติเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เครือข่ายภาคใต้มีการหาแนวทางติดต่อกันระหว่างต้นน้ำกับปลายน้ำ ความเป็นเครือข่ายจะทำให้เราเตรียมตัวได้ ในหลายจังหวัดเกิดภาวะน้ำท่วมหนัก สื่อที่มีอยู่ในจังหวัดควรยกเลิกรายการปกติ และทำเรื่องนี้ เพราะหากอ่านรัฐธรรมนูญจะพบว่าคลื่นเป็นสมบัติของประชาชนและต้องใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น