ความเป็นมาโครงการ

สวัสดีครับเพื่อนๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มตกอยู่ในภาวะภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ จนมีหลายสื่อเรียกว่า "มหาอุทกภัย 2554" ซึ่งก็ไม่นับตั้งแต่ต้นเดือนที่เราเจอน้ำท่วมที่ภาคใต้ ในที่สุดพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ก็ไม่พื้นน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เช่นกัน สำหรับตัวผมแล้ว อายุ 39 ปี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2515 ได้เคยพบกับน้ำท่วใหญ่มาแล้ล 2 ครั้ง ในฐานะคนเมือง คือ เมื่อปี พ.ศ.2526 และ 2538 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในสภาพที่ตัวเองต่างจาก 2 ครั้งแรก อย่างสิ้นเชิง กับสถานะ "คนพิการทุพพลภาพ" แต่ว่าด้านจิตสำนึก และความรู้สึก นั้น อยากบอกเพื่อนๆ ว่า ไม่ต่างจากเดิมเลย

สำหรับน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ นอกจากจะมีความแตกต่างด้านร่างกายที่คนภายนอกดูผมน่าจะแย่แล้ว แต่กลับแตกต่างที่ 2 ครั้งแรก ผมมีส่วนร่วมกับครอบครัวในความพยายามปกป้องภัยจากน้ำท่วมตามครรลอง วัยวุฒิที่พอมีองค์ความรู้ และตามคำสั่งเท่านั้น ในสภาพคนพิการทุพพลภาพในครั้งนี้ ผมกลับช่วยเหลือผู้อื่นได้มากกว่าเสียอีก ได้มีโอกาสทำงานอาสาสมัครให้กับกลุ่มอาสาสมัครที่รวมตัวกันเป็นเครือข่าย ด้วยคำชวนของคุณปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้ง Thaiflood.com ด้วยเครื่องมือด้านไอที ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่เมื่อปี 2553 จนถึงครั้งนี้ 2554 ที่คนกรุงก็ไม่รอดพ้นเช่นเดียวกัน

ผมจึงตัดสินใจฝังตัวในบ้าน เพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ประสบภัยร่วมกับคนในครอบครัว จนถึง ณ วันที่พิมพ์บทความนี้ 20 กว่าวันที่ผมได้เรียนรู้ วิเคราะห์์สภานการณ์ จนได้ทั้งองค์ความรู้ และประสบการณ์ รวมทั้งได้ถอดบทเรียน ลงในเว็บบล็อก บทความชุด "ผมกำลังจะกลายเป็นผู้ประสบภัย" โดยหวังว่าจะเป็นทั้งแรงบันดาลใจ หรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่าง ของการที่จะอยู่รอด หรืออยู่ร่วมกับภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างมีสติ บนปัจจัยที่ผ่านการวิเคราะห์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นลำดับแรกด้วยนะครับ

ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ได้มีโอกาสมาทำงานอาสาสมัคร ต้องยอมรับว่า การแจกถุงยังชีพ (ชั่วคราว) นั้นเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกถึงความช่วยเหลือ จากผู้ให้ ไปสู่ผู้รับ ไปเสียแล้วสำหรับเมืองไทย หรืออาจจะทั่วโลก ซึ่งเราทุกคนก็ต้องยอมรับว่า ถุงยังชีพนั้นสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้จริง ในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน เพราะผู้ประสบภัยนั้นต้องกิน ต้องอยู่ได้ในเบื้องต้น ก่อนหน้านั้นผมอาจจะไม่เข้าใจอะไรสักเท่าไหร่ จนครั้งนี้ได้มาเป็นผู้ประสบภัยเอง ความคิดแต่เดิมที่การแจกถุงยังชีพ ไม่น่าจะใช่คำตอบสุดท้ายในระยะยาวสำหรับผู้ประสบภัย แต่ตัวผมไม่มีประสบการณ์ ไม่เข้าใจผู้ประสบภัย ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาทำอะไร ที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระยะยาวได้

และระหว่างที่เป็นผู้ประสบภัยในครั้งนี้เอง มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ความคิดของผมตกผลึก และมีความมั่นใจมากขึ้น จากสถานการณ์ที่พวกเราในครอบครัวตั้งใจจะปกป้องบ้านทั้ง 4 หลัง ในบริเวณรั้วกำแพงเกือบ 1 ไร่ ที่ระดับน้ำสูงสุดที่บันทึกไว้ 1.50 เมตร เราเตรียมตัวในระดับหนึ่งที่ผมกล้าบอกว่า ไม่ได้ดีมาก เนื่องจากทุกคนก็คิดไม่ถึงว่า น้ำท่วมครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสขนาดนี้ การเตรียมอาหารสำหรับคน 14 คน สำหรับ 10 วันนั้นไม่เพียงพอ พวกเราช่วยเหลือตัวเองด้วยการออกไปลำเลียงอาหารเข้ามากันเอง หรือต้องยกเครดิตให้กับผู้ใหญ่รุ่นแม่ ที่เตรียมการป้องกันด้วยการออกแบบระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างดี จนสามารถปกป้องน้ำท่วมได้จนถึงวินาทีนี้ ที่ผมพิมพ์บทความ และในเวลาที่เราเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ก็ยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ผมอยากเรียกตัวเอง และคนในครอบครัวว่าเป็น "ผู้ประสบภัยมืออาชีพ" คือ นอกจากจะดูแลตัวเองกันได้แล้ว ไม่ได้ไปรบกวนผู้อื่น เพราะเลือกที่จะอยู่ร่วมกับภัยน้ำท่วม ก็ยังสามารถช่วยผู้อื่นได้ตามอรรถภาพ

บทเรียนครั้งใหญ่นี้ ผมอยากบอกว่า เราไม่สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติได้ แต่เราอยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติได้ หากเรามีการเตรียมกรที่ดี ศึกษาความเป็นไปได้ก่อนว่าถัยธรรมชาติครั้งนี้อยู่ในวิสัยที่เราจะพอรับมือได้หรือไม่ คือต้องประเมินสถานการณ์ก่อน ไม่ไหวคือไม่ไหว ก็ต้องถอย เพราะภัยธรรมชาติมีหลายรูปแบบ ต้องบอกเเพื่อนๆ ก่อนนะครับว่า เราคุยกันแล้ว รั้วกำแพงบ้านเรารับได้แต็มที่ 1.80 เมตรเท่านั้น นี่คือเหตุผลที่เราตัดสินใจรับมือ เกินกว่านี้ก็ต้องอพยพเหมือนกัน

เหตุผลของการจัดตั้งโครงการ "ถุงยังชีพถาวร เพื่อการฟื้นฟูอาชีพผู้ประสบภัย" มาจากแนวคิดเดิมที่ถุงยังชีพไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระยะยาวได้ หากแต่การเตรียมตัวที่ดีต่างหาก ที่จะทำให้ผู้ประสบภัยนั้นเป็นมืออาชีพ ในการอยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติได้ ซึ่งการจะทำให้ได้อย่างนั้น ไม่จำเป็นว่า จะต้องมีเงินทองมากมายอะไร เพียงแต่ต้องสามารถประเมินสถานการณ์ภัยพิบัติได้ มีจิตใจที่มุ่งมั่นในการคิดแก้ปัญหาต่างๆ ดังนั้นแล้ว แก่นแท้ของโครงการนี้ คือการให้แนวคิด โดยใช้เงินบริจาค จากทุกท่านเป็นเครื่องมือเท่านั้น ในการพัฒนาวิธีคิดให้เป็นระบบที่จะอยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติ

ถุงยังชีพชั่วคราว อาจเป็นการให้ที่ในระยะยาวกลับไปทำร้ายผู้ประสบภัย โดยที่ผู้ให้ไม่ได้มีเจตนาเลย ไม่ว่าจะกับกลุ่มผู้ประสบภัยโดยตรง หรือตัวกลางของผู้ประสบภัย ไม่นับ ถุงยังชีพคอรัปชั่น ทั้งระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ ถุงยังชีพชั่วคราวอาจกลายเป็นที่ฟอกเงิน หรือเป็นช่องทางของคนมีอำนาจหลายคน สุดท้ายอาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น ที่ควรจะต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า ในภาวะวิกฤต ถุงยังชีพเป็นเหมือนตัวแทน หรือตัวกลาง ที่ผู้ให้กับผู้รับ สื่อสารถึงกันและกัน จึงอยู่ที่ว่า ใครจะใช้ "ถุงยังชีพชั่วคราว" นี้ด้วยวัตถุประสงค์อะไร ดังนั้นเป็นสัจจะธรรมที่ว่า สิ่งใดมีคุณอนันต์ ก็ย่อมมีโทษมหันต์ เช่นกัน ไม่เว้นแ้แต่ "ถุงยังชีพชั่วคราว" เราจึงควรใช้ถุงยังชีพให้เป็น ใช้ให้ถูกต้อง ดั่งโอวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้เคยให้ไว้ ซึ่งผมอาจจะจำเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้ แต่ในความทรงจำที่มีอยู่ คือ ในหลวงท่านได้ให้โอวาสไว้ในลักษณะที่ว่า "ถุงยังชีพนั้นไม่ได้ช่วยให้ชาวบ้านอยู่ได้ตลอดในภาวะภัยพิบัติ แต่ถุงยังชีพของพระราชานั้นเป็นกำลังใจ ที่จะทำให้ชาวบ้านรู้ว่าพระราชาทราบความทุกข์ของชาวบ้าน และต้องการให้ชาวบ้านมีกำลังใจที่จะอยู่ต่อสู้กับภาวะภัยพิบัติได้"

วัตถุประสงค์ของโครงการนั้น เพื่อนๆ สามารถอ่านได้จากลิงก์นี้นะครับ http://selfreliefpackage.blogspot.com/p/blog-page.html ซึ่งนอกเหนือจากการให้แนวคิดที่จะเตรียมตัวของว่าที่ผู้ประสบภัยแล้ว ในยามเกิดภัยพิบัติ การให้ความช่วยเหลือก็จะเป็นระบบมากขึ้น ผู้รับต้องการสิ่งใด ผู้ให้ก็สามารถจัดเตรียมให้อย่างตรงไปตรงมา อย่างนี้แล้วก็จะเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าสูงสุด มิใช่ผู้ประสบภัยคนหนึ่ง ได้รับยาสีฟันแล้ว 10 หลอด แปรงสีฟัน 5 อัน เกลือ 40 ถุง เป็นต้น ซึ่งอาจไม่เกิดประโยชน์อันใด ณ เวลานั้น

เกือบจบบทความ ความเป็นมาโครงการแล้ว ยังไม่ได้เล่า เหตุการณ์ที่ผมบอกว่่าทำให้ความคิดที่มีอยู่เดิม ตกผลึก เลยนะครรับ เหมือนจะไม่สมบูรณ์ถ้าไม่ได้เล่า ขอเล่าเอาช่วงท้ายนี้ก็แล้วกันนะครับ เรื่องก็มีอยู่ว่า น้องสาวผมท้องแก่ จึงออกจากบ้านเพื่อไปเตรียมตัวคลอดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554 เย็นวันนั้น เธอก็โทรมาว่า ให้ผมถามทุกคนในครอบครัวใหญ่ว่า ต้องการอะไรบ้าง รุ่งขึ้นสามีของเธอจะเข้ามา และนำสิ่งของที่เราต้องการ มาให้ จึงเกิดเหตุการ์สำคัญ ที่ทุกคนมายืน นั่ง บอกว่าจะเอาอะไรบ้าง อีกคนก็จด อีกคนก็ถามคนอื่น อีกคนก็ออกความเห็นว่า เอาอะไรเยอะแยะ สงสารคนขนด้วย อีกคนก็ว่า อันนี้ไม่จำเป็นเอามาทำไม กินไอ้นี่แทนก็ได้ ใช้อันนั้นแทนก็ได้ อีกคนก็บอกว่า อันนี้ไม่เอา เอาอันนี้มีประโยชน์กว่า ในบรรยากาศนั้น ผมหลับตาแล้วจินตนาการ จนออกมาเป็น โครงการ "ถุงยังชีพถาวร เพื่อการฟื้นฟูอาชีพผู้ประสบภัย" นี้

ผู้รับต้องมีจรรยาบรรณ อย่างคิดเพียง เขาให้อะไรมาก็เอา เอาไว้ก่อน ในภาวะวิกฤต ทุกคนต้องมี "ธรรมะ" ธรรมง่ายๆ คือ ถ้าคุณรับเฉพาะในสิ่งที่จำเป็นและควรได้ อันเกิดประโยชน์กับคุณมากที่สุด เท่ากับผู้ให้จะสามารถให้ผู้อื่นได้มากขึ้น นั่นเท่ากับว่า ถึงคุณจะเป็นฝ่ายรับ คุณก็สามารถเป็นผู้ให้ ไปพร้อมๆ กันได้ เราต้องคิดถึงผู้อื่นด้วย เราต้องการ คนอื่นก็ยังต้องการเช่นกัน

ผมก็หวังว่า โครงการ "ถุงยังชีพถาวร เพื่อการฟื้นฟูอาชีพผู้ประสบภัย" นี้จะได้รับการสนับสนุนจาก "ผู้ให้" ที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ที่จะเป็นการให้แบบยั่งยืน คือให้แนวคิด โครงการนี้คงเทียบไม่ได้กับ ความเดือดร้อนหลายล้านคนในประเทศไทย แต่หวังเพียงว่าจะเป็นโครงการเล็กๆ ที่ในอนาคตจะเติบใหญ่ จากชุมชนที่ 1 ไป 10 ไป 100 ไป 1,000 ขยายตัวไปได้เรื่อยๆ ในอนาคตครับ



"สามารถโอนเงินเข้า บัญชี "มูลนิธิโอเพ่นแคร์เพื่องานอาสาฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติ" SCB ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 402-177853-3 และรบกวนแจ้งการโอนงินที่แบบฟอร์มนี้http://selfreliefpackage.blogspot.com/2011/10/6.html"